พ่อแม่มือใหม่หลายครอบครัวมักมีอาการเครียดจากเสียงร้องไห้ของเจ้าตัวน้อยที่ร้องต่อเนื่องยาวนานนับชั่วโมงอย่างหาสาเหตุไม่ได้ แต่ผลการวิจัยล่าสุดที่เรานำมาฝากในครั้งนี้อาจทำให้คุณพ่อคุณแม่ได้คลายความกังวลลงได้บ้าง
วารสารกุมารเวชศาสตร์ทารกในสหราชอาณาจักรตีพิมพ์การวิเคราะห์ของ meta-analysis ที่ชี้ให้เห็นว่า เด็กจากแทบทุกประเทศทั่วโลกที่อายุต่ำกว่า 3 เดือนมักร้องไห้หนักโดยไม่มีเหตุผล แม้คุณพ่อคุณแม่จะรับมือด้วยวิธีการแก้ปัญหาทั่วไปด้วยวิธีพื้นฐาน 2 วิธี อย่างการป้อนอาหาร และการเปลี่ยนผ้าอ้อม ก็ยังอาจไม่สามารถหยุดเสียงร้องได้เลย
จากผลการวิจัยของ University of Warwick ได้ทำการศึกษาทารกกว่า 8,700 ราย พบว่าเด็กทารกเหล่านี้ร้องไห้หนักมาก เฉลี่ยประมาณ 2 ชั่วโมงต่อวัน ในช่วง 2 สัปดาห์แรก และร้องไห้เสียงดังมาก ในช่วง 6 สัปดาห์แรก แต่จะร้องน้อยลงเรื่อย ๆ ประมาณ 15 นาทีต่อวัน และลดลงเหลือ 10 นาทีต่อวัน จนหยุดร้องและไม่ร้องไห้โดยไร้เหตุผลในที่สุด
ขณะที่ผลการวิจัยอื่นๆ ได้ให้ข้อสรุปในอีกแนวทางที่น่าเชื่อถือว่าที่มาของอาการร้องไห้ไม่หยุดนั้นมาจากลมในกระเพาะอาหารมากเกินไป ที่ทำให้เจ้าทารกตัวน้อยเกิดอาการปวดท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ ซึ่งเป็นที่มาของความไม่สบายตัวจนต้องแผดเสียงอุแว้ออกมา
และวิธีแก้อย่างหนึ่งที่กุมารแพทย์ส่วนใหญ่ให้การแนะนำเพื่อหยุดอาการเหล่านี้ คือการให้เด็กได้ดื่มนมแม่ ซึ่งไม่เพียงจะมีประโยชน์ต่อพัฒนาการของเจ้าตัวน้อยแล้ว ยังทำให้ย่อยง่าย และไม่เกิดลมในกระเพาะจนเป็นที่มาของอาการปวดท้อง
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเหตุผลจะเกิดขึ้นจากอะไรก็ตาม อาการร้องจะมากหรือน้อยแค่ไหน สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ทำได้คือการใจเย็น และหาวิธีข้ามพ้นสถานการณ์นี้ด้วยวิธีต่างๆ ดังนี้...
สัมผัสลูกน้อยอย่างแผ่วเบา โอบกอดให้เขารู้สึกถึงความรัก ความอบอุ่น และความสบายอกสบายใจที่คุณพ่อคุณแม่มีให้
แก้ไขอาการจากสาเหตุพื้นฐาน คือ ความหิว ความหนาว ความร้อน หรือสภาพแวดล้อมที่อาจกระตุ้นให้ลูกน้อยเกิดความระคายเคือง
ทำให้ทารกเรอหลังดูดนม
ลองเปิดเครื่องดูดฝุ่น หรือไดร์เป่าผมให้ทารกได้ยิน เนื่องจากเป็นการเลียนแบบเสียงที่ทารกได้ยินขณะอยู่ในครรภ์ มีส่วนช่วยให้ผ่อนคลาย
ข้อควรระวัง... เมื่อลูกร้องไห้
ไม่ว่าผลการวิจัยจะออกมาเช่นไร แต่คุณพ่อคุณแม่ก็อย่าเพิ่งวางใจว่าข้อมูลเหล่านี้จะเป็นสูตรสำเร็จที่สามารถการันตีอาการว่าลูกน้อยของคุณจะเป็นเช่นนั้น และคุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นสังเกตอาการอื่นข้างเคียงว่าลูกเกิดอาการต่างๆ เหล่านี้หรือไม่ เพราะอาการเหล่านี้บ่งบอกถึงความเจ็บป่วยทางกายที่ลูกควรต้องไปพบแพทย์
1. เสียงร้องไห้ฟังดูแปลกกว่าที่เคย
2. น้ำหนักน้อย ทารกดูตัวเล็กกว่าที่ควรเป็น
3. ท้องเสีย อาเจียน หรือท้องผูก หรือมีเลือดปนออกมาพร้อมกับการขับถ่าย
4. ไม่ดูดนม หรือดูดน้อยมาก
5. มีไข้ หรือมีผื่นขึ้นตามตัว
อย่าลืมนะคะ การดูแลลูกน้อยให้มีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี คุณพ่อคุณแม่ต้องใช้สิ่งสำคัญคือ สติและการหมั่นสังเกตอยู่เสมอ ง่ายๆ เพียงเท่านี้ก็ช่วยให้ลูกน้อยมีสุขภาพดี คุณพ่อคุณแม่มีความสุขได้ไม่ยากเลยค่ะ